ปวดท้องน้อย “ประจำเดือนไม่มา” อาการผิดปกติที่รบกวนจิตใจ อาจเป็นสัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกถึงโรคสำคัญที่คุณผู้หญิงไม่สมควรมองข้าม
อาการปวดท้องน้อยนั้น เป็นสิ่งที่ผู้หญิงเกือบทุกคนต่างเคยประสบมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงระยะก่อนมีประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายขาดสมดุล หรือในช่วงเวลาที่เริ่มตั้งครรภ์ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่มีอาการปวดท้องน้อย ทั้งๆ ที่ประจำเดือนยังไม่มา ทั้งยังไม่ได้ตั้งครรภ์อีกด้วย ทำให้คนเหล่านั้นเกิดความวิตกกังวลกับความผิดปกติของร่างกาย และสงสัยว่าอาการ ปวดท้องน้อย ประจำเดือนไม่มา นั้น เป็นลางบอกโรคอะไรหรือไม่?
สำหรับอาการปวดท้องน้อย โดยที่ประจำเดือนไม่มานั้น แท้จริงแล้วสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่ไม่น่าวิตก เช่น การมีรอบเดือนที่ล่าช้า อันเนื่องมาจากความเครียด จนทำให้เกิดความดันภายในร่างกาย และส่งผลให้มีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome) หรือ PMS ตามปกติ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ร่างกายมีรอบเดือนล่าช้า ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองภายหลังจากที่ประจำเดือนมาได้ราว 1-2 วัน และอาการปวดท้องน้อยเช่นนี้ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 38 ปีขึ้นไป ก็อาจเป็นสัญญาณถึงการหมดประจำเดือน และเข้าสู่ช่วงวัยทองได้เช่นกัน
แต่ถึงอย่างนั้น การปวดท้องน้อย แต่ประจำเดือนไม่มา ก็อาจเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงโรคที่มีความรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเช่นกัน ดังนี้
สัญญาณบอกโรคที่ไม่ควรมองข้าม “ปวดท้องน้อย ประจำเดือนไม่มา”
1.เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
คือภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นภายนอกมดลูก ซึ่งพบได้ 3-18% ของผู้หญิงทั่วไป โดยอาจจะมีการเจริญผิดที่ในเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ที่เยื่อบุโพรงมดลูกจะแทรกเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อมดลูก และการเจริญผิดที่นอกมดลูก (Endometriosis) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นที่รังไข่ ท่อมดลูก เส้นเอ็นของมดลูก เป็นต้น
สำหรับการเกิดโรคนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่เชื่อกันว่าเกิดจากตอนที่มีประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดออกมาพร้อมกับเลือดได้ไหลย้อนกลับไปทางท่อนำไข่ แล้วไปเกาะตามอวัยวะต่างๆ เช่น รังไข่ หรือลำไส้ ซึ่งปกติหากมีเนื้อเยื่อของร่างกายอยู่ผิดที่ ก็มักจะถูกเม็ดเลือดขาวและภูมิต้านทานของร่างกายทำลายทิ้งไป แต่ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคนี้มีการตรวจพบว่ามีภูมิต้านทานเซลล์เหล่านี้น้อยกว่าคนปกติ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดไป มีการเจริญขึ้นที่อื่นนอกเหนือจากในโพรงมดลูก
และเมื่อเยื่อบุมดลูกไปเจริญยังที่อื่นนอกมดลูกในตอนที่มีประจำเดือน เยื่อบุที่เจริญขึ้นผิดที่เหล่านี้ก็จะหลุดลอกออกมาด้วย ทำให้บริเวณนั้นเกิดบาดแผลและการอักเสบ ซึ่งจะก่อให้เกิดพังผืดจนเกิดการสะสมของเลือดที่ออก ทำให้เกิดถุงน้ำ และกรณีที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่รังไข่ จะทำให้มีการสะสมของเลือดในรังไข่ กลายเป็นถุงน้ำที่มีเลือดเก่าที่คั่งค้างจนมีลักษณะเป็นสีคล้ำ หรือช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) นั่นเอง
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบนี้ บางรายอาจไม่มีอาการใดๆ ขณะบางรายอาจจะมีอาการปวดท้องน้อย ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง ปวดท้องน้อยตลอดช่วงที่มีรอบเดือน รู้สึกปวดเวลาที่ถ่ายปัสสาวะ-อุจจาระ ปวดเวลาที่มีเพศสัมพันธ์ และบางรายอาจถึงขั้นขับถ่ายเป็นเลือดได้ ซึ่งหากมีอาการผิดปกติข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยทันที
2.มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer)
โรคมะเร็งรังไข่ เป็น 1 ใน 10 โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยมากที่สุด แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเกิดจากเซลล์ตัวอ่อน หรือ เจิมเซลล์ (Germ cell) ซึ่งมักพบในเด็กและในหญิงอายุน้อย และกลุ่มเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดพบได้ในผู้ใหญ่ และพบมากในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยทั่วไปแล้วหากมีการพูดถึงโรคมะเร็งรังไข่มักจะหมายถึงชนิดหลัง
อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ แต่มีการพบสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้ คือ สภาพแวดล้อม ซึ่งมีการพบว่าประเทศอุตสาหกรรมมักจะมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าประเทศเกษตรกรรม รวมทั้งผู้ที่เคยมีประวัติเคยเป็นมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งระบบทางเดินอาหารก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่ใช้ยากระตุ้นตกไข่ และผู้ที่ใช้ยาฮอร์โมนเพศชดเชยในช่วงวัยทอง ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งรังไข่เช่นกัน
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งรังไข่นั้นมักจะไม่มีอาการของโรคในระยะแรกๆ แต่มีอาการคล้ายผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารทั่วไป เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอ หรือมีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และอาจท้องผูก เนื่องจากก้อนมะเร็งกดเบียดทับลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงมักมาพบแพทย์ด้วยโรคนี้ในระยะลุกลามเสมอ เมื่อมีอาการปวดท้องน้อยและคลำเจอก้อนเนื้อในท้องน้อย มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีน้ำในช่องท้อง
3.เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)
เป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้าย ซึ่งพบได้ราว 25% ในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และมักพบในผู้หญิงอายุระหว่าง 35-45 ปี แต่อาจพบในหญิงสาวก็ได้ โดยเนื้องอกในมดลูกนี้เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญของอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในสุภาพสตรี และยังเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อย ปัสสาวะบ่อยหรือท้องผูกจากการกดของก้อนเนื้องอกด้วย
อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนของโรคได้ แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากพันธุกรรม หรือฮอร์โมนเพศในร่างกายที่ส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูก นอกจากนี้ เนื้องอกมดลูกยังมักจะพบบ่อยในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยมีบุตร ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก และในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก
และสำหรับผู้ที่เป็นโรคเนื้องอกมดลูกนั้น มักจะไม่มีอาการใด ๆ หากเนื้องอกนั้นมีขนาดเล็ก แต่หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ มักจะมีเลือดออกมากแบบกะปริบกะปรอย และมักจะมีอาการปวดประจำเดือนร่วมด้วย หรือปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย บางคนอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมีความรู้สึกเจ็บขณะร่วมเพศ รวมทั้งอาจคลำเจอก้อนได้ที่บริเวณท้องน้อย
4.อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease : PID)
เป็นการอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรังของอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนบน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเยื่อบุช่องท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และการติดเชื้ออาจกระจายเข้าสู่ช่องท้องอาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ บริเวณกว้างเป็นภาวะแทรกซ้อนได้ มักพบในสตรีวัยเจริญพันธุ์
โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบก็คือ ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้ง ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ขณะอายุยังน้อยซึ่งมีภูมิป้องกันตัวเองต่ำ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ขณะมีประจำเดือน หรือในช่วงหลังคลอดได้ไม่นาน ทำให้มดลูกยังไม่มีกลไกในการป้องกันการติดเชื้อได้ดี ผู้ที่ใช้การคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัย และผู้ที่สวนล้างช่องคลอดเป็นประจำ ซึ่งจะทำให้เสียสมดุลของเชื้อโรคตัวที่ควรจะมีในช่องคลอด
สำหรับผู้ที่เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมักจะมีอาการไข้เกิน 38 องศา ปวดท้องน้อย โดยจะปวดหน่วงตลอดเวลา ร่วมกับปวดเกร็งเป็นระยะ และจะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ ตกขาวมีกลิ่น และหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย แสดงว่าโรคได้ลามไปถึงเยื่อบุช่องท้องแล้ว ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตราย ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที
5.ปากมดลูกตีบ (Cervical Stenosis)
โรคปากมดลูกตีบ เป็นความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง ซึ่งมีสภาพของทางผ่านของปากมดลูกแคบหรือปิด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ และอาจทำให้มีเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับ รวมทั้งในผู้ป่วยโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบก็อาจส่งผลให้มีน้ำหนองสะสมอยู่ในโพรงมดลูก เพราะไม่สามารถไหลออกมาได้
สำหรับสาเหตุของโรคปากมดลูกตีบนั้นประกอบด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน โดยผู้ป่วยบางคนอาจจะมีอาการปากมดลูกตีบโดยกำเนิด ขณะที่กลุ่มผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกหรือการรักษาด้วยการฉายรังสี ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคปากมดลูกตีบเช่นกัน
ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคปากมดลูกตีบ อาจมีอาการปวดประจำเดือนหรือมีประจำเดือนมาไม่ปกติ รวมทั้งอาจมีอาการปวดท้องน้อย หากมีการสะสมของเลือดหรือหนองภายในมดลูกตลอดเวลา และอาจสามารถคลำเจอก้อนในท้องน้อยด้วยเช่นกัน ขณะที่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้วอาจไม่มีอาการใด ๆ ของโรคเลยก็เป็นได้ โดยสำหรับผู้ที่ประสบกับโรคปากมดลูกตีบนั้น สมควรที่จะเข้ารับคำปรึกษาและการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
6.ถุงน้ำในรังไข่ หรือ ซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cysts)
ซีสต์ที่รังไข่ เป็นถุงน้ำที่พัฒนาขึ้นภายในรังไข่ โดยชนิดที่พบมากที่สุดก็คือ Functional Ovarian Cyst ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกระบวนการสร้างไข่ภายในรังไข่ มักพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ และสามารถหายได้เองภายใน 8-12 สัปดาห์ กับชนิด Ovarian Cystic Neoplasms ซึ่งเกิดจากการเจริญของเซลล์ที่ผิดไปจากปกติในลักษณะเดียวกับการเกิดเนื้องอกและมะเร็ง โดยหากพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มักจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง แต่หากพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกแบบร้ายแรงสูง
สำหรับผู้ที่เกิดซีสต์ที่รังไข่ชนิด Ovarian Cystic Neoplasms นั้น ส่วนมากจะไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งซีสต์นั้นแตกและมีเลือดออก หรือซีสต์มีขนาดใหญ่มากจนไปรบกวนอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใกล้เคียง เช่น ไปเบียดกับท่อนำไข่ หรือไปรบกวนการไหลเวียนของเลือดมาที่รังไข่ ก็จะแสดงอาการออกมาให้เห็น เช่น เจ็บ ปวด ที่บริเวณท้องหรือท้องน้อย ทั้งก่อนหรือหลังมีประจำเดือนใหม่ ๆ หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ และหากปวดมากก็อาจจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ซึ่งหากก้อนซีสต์มีขนาดใหญ่มากกว่า 5-10 เซนติเมตร หรือมีอาการข้างเคียงรุนแรงก็จำต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
อย่างไรก็ดี นอกจากอาการปวดท้องน้อยแล้ว โรคต่างๆ ข้างต้นนี้ยังมีลักษณะอาการอื่นๆ ที่บ่งชี้ถึงการเกิดโรคที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งมีข้อแนะนำว่า สำหรับผู้หญิงคนใดที่มีอาการผิดปกติอยู่ในกลุ่มอาการดังต่อไปนี้ สมควรจะรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจรักษาโดยเร็วที่สุด
1.มีอาการปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย หรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
2.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
3.ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีอาการปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ หรือปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน
4.ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีประจำเดือนออกมาก หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอยนานเกิน 1 สัปดาห์
5.มีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
6.มีปัญหาด้านระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก ปัสสาวะไม่คล่อง
7.คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องโตคล้ายคนท้อง
ทั้งนี้ การใส่ใจสุขภาพส่วนตัวของเราเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม แม้แต่สัญญาณเล็กๆ ที่คุณผู้หญิงหลายคนอาจมองข้ามไปเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนเคยชิน ก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยที่สำคัญได้เช่นกัน ซึ่งหากเราทราบเท่าทันอาการที่เกิดขึ้นและรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที ก็จะเป็นผลดีต่อเราอย่างมหาศาลทั้งยังทำให้อาการปวดท้องน้อยที่รบกวนจิตใจอยู่นี้หายไปได้ด้วยเช่นเดียวกันค่ะ
นอกจากนี้แล้ว วันนี้เราขอแนะนำสำหรับผู้ผญิงที่ประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนไม่มา แต่ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงข้างต้นใดๆ เราแนะนำให้รับประทานยาสตรีนะคะ ยาสตรีจะช่วยปรับสมดุลระบบภายในของผู้หญิง จึงช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ บำรุงเลือด และแถมยังช่วยให้ผิวพรรณของสาวๆ ผ่องใสขึ้นอีกด้วยค่ะ รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมหาซื้อมารับประทานกันนะคะ
ยาสตรีฟลอร่า ตัวช่วยที่ตอบโจทย์ทุกปัญหาของผู้หญิง
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
https://health.kapook.com/view61933.html
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม :
สุดยอดท่าโยคะ บรรเทาอาการ “ปวดท้องประจำเดือน”