“ปวดท้องประจำเดือน” จะมีอาการปวดบิด บีบเกร็งบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการปวดร้าวบริเวณต่างๆ เช่น ต้นขา เอว หลัง สะโพก หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องอืด ท้องเสีย ปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในช่วงก่อนและระหว่างที่มีประจำเดือน โดยเป็นได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ซึ่งหากมีอาการปวดมากขึ้นในทุกๆ เดือน หรือประจำเดือนมีความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
1.”ปวดท้องประจำเดือน” แล้วมีอาการท้องเสียด้วย ปกติหรือไม่?
ปวดท้องประจำเดือนแล้วมีอาการท้องเสียถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสารพรอสตาแกลนดินที่ร่างกายผลิตขึ้นจะทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูก และสามารถส่งผลให้ลำไส้เกิดการบีบตัวได้เช่นกัน จึงทำให้มีอาการท้องเสียในผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือน
2.”ปวดท้องประจำเดือน” ควรกินยาอะไร?
หากมีอาการปวดท้องประจำเดือนที่ไม่รุนแรง สามารถรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือพาราเซตามอล (Paracetamol) แต่หากมีอาการรุนแรง ให้รับประทานยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซนโซเดียม และเซเลโคซิบ ยาคุมกำเนิด หรือรับประทานยาสตรีบำรุงก่อนมีประจำเดือน สามารถปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาได้
3.กินยาแก้ปวดท้องประจำเดือนทุกเดือน อันตรายไหม?
ยาแก้ปวดท้องประจำเดือนสามารถรับประทานได้ทุกเดือนโดยไม่เป็นอันตราย แต่ควรระมัดระวังในผู้ที่มีโรคประจำตัว ในกรณีที่ประจำเดือนมาตรงเวลาทุกรอบ สามารถรับประทานก่อนประจำเดือนมา 1-2 วันได้เลย แต่หากไม่สามารถคาดการณ์เวลาที่ประจำเดือนจะมาได้ สามารถทานได้ทันทีเมื่อรู้สึกปวด หรือรับประทานในช่วง 2-3 วันแรกที่มีประจำเดือน อย่างไรก็ตามหากรับประทานแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้นทุกเดือนควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
กินยาแก้ปวดทุกครั้งที่ “ปวดท้องประจำเดือน” อันตรายหรือไม่?
“ปวดท้องประจำเดือน” แต่ไม่อยากกินยาแก้ปวด เรามีเคล็ดลับมาบอก
4.”ปวดท้องประจำเดือน” ต้องนอนท่าไหน?
หากมีอาการปวดท้องประจำเดือน ควรนอนตะแคงข้างและขดตัวเหมือนเด็กทารก เพื่อลดแรงกดดันจากกล้ามเนื้อหน้าท้อง ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และยังช่วยลดความตึงเครียดได้อีกด้วย
5.เครื่องดื่มแก้ “ปวดท้องประจำเดือน” มีอะไรบ้าง?
เครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเมนส์ เช่น น้ำอุ่น น้ำอุ่นผสมมะนาว น้ำขิง ชาเปปเปอร์มิ้นท์ ชาคาโมมายล์ ชาขมิ้น เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/period-cramps.html
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม :
“ปวดไมเกรนช่วงมีประจำเดือน” เกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี?