อีกหนึ่งปัญหากวนใจที่ผู้หญิงเกือบทุกคนต้องเจอ นั่นก็คือ “ปวดท้องประจำเดือน” หรือปวดท้องเมนส์ หลายคนเข้าใจว่า การปวดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ บางคนปวดไม่มากมีอาการเพียงเล็กน้อยจึงมักมองข้ามปัญหานี้ไป แต่รู้ไหมว่าแม้จะปวดเพียงเล็กน้อย แต่ปวดเป็นระยะเวลานานหรือแม้กระทั่งปวดท้องแบบรุนแรง นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่อาจจะตามมาได้
“ปวดท้องประจำเดือน” คืออะไร?
ปวดท้องประจำเดือน คือ อาการปวดท้องน้อยในช่วงที่มีรอบเดือน โดยปกติแล้วผู้หญิงมักจะมีอาการปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องเมนส์ ก่อนมีรอบเดือน 1-2 วัน หรือปวดระหว่างมีรอบเดือนในช่วงวันแรกๆ จะมีอาการปวดเกร็งเล็กน้อย ปวดแบบหน่วงๆ หรือรุนแรงไปจนถึงบริเวณท้องน้อย ในบางรายอาจมีอาการปวดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลัง ปวดแขน ปวดขา ท้องผูก ท้องอืดหรือท้องเสีย เป็นต้น
สาเหตุของการ “ปวดท้องประจำเดือน”
อาการปวดท้องประจำเดือน หรือปวดท้องเมนส์ มีสาเหตุมาจากการบีบตัวของมดลูก ในช่วงที่มีประจำเดือนเยื่อบุมดลูกจะผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งจะเข้าไปกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน
อย่างไรก็ตามอาการปวดประจำเดือนเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.ปวดแบบปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)
คือ อาการปวดแบบทั่วไป โดยอาการปวดประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุด มักมีสาเหตุมาจาก เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดิน มากจนเกินไป
2.ปวดแบบทุติยะภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)
อาการปวดประเภทนี้มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ ภาวะผิดปกติของมดลูก หรืออวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ ดังนี้
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อของระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิง มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจะติดเชื้อที่มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ หากไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด จะส่งผลให้เกิดการอักเสบและมีอาการปวดท้องในขณะที่มีประจำเดือนได้
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
สาเหตุเกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก แม้จะเจริญผิดที่แต่ก็ยังทำหน้าที่สร้างประจำเดือนเหมือนเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ประจำเดือนมีสีแดงคล้ำ ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และทำให้มีบุตรยาก
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก
จะทำให้มีอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก เนื่องมาจากมดลูกอักเสบและถูกกด ในบางรายอาจมีเลือดประจำเดือนออกมามากและมีรอบเดือนยาวนานกว่าปกติ ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก มักพบในผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปีที่มีบุตรแล้ว
- ปากมดลูกตีบ
ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดขึ้นจากการที่ปากมดลูกตีบแคบเกินไป ส่งผลให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้า ก่อให้เกิดแรงกดภายในมดลูกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดท้องรุนแรงและเรื้อรัง
- เนื้องอกนอกมดลูก
มีขนาดตั้งแต่เล็กมาไปจนถึงขนาดใหญ่ เนื้องอกจะส่งผลให้มีประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ หรือมีประจำเดือนกระปริบกระปรอยนานเป็นสัปดาห์ และมีอาการปวดประจำเดือนหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรังร่วมด้วย
วิธีบรรเทาอาการ “ปวดท้องประจำเดือน”
- อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
- นวดคลึงบริเวณท้องน้อยและหลัง
- ใช้ถุงประคบร้อน ประคบบริเวณท้องน้อยและบริเวณหลัง
- ทานยาแก้ปวด หรือทานยาต้านการอักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์(NSAIDs) ควรทานเมื่อก่อนมีอาการปวด หรือมีอาการปวด ยาแก้ปวดอาจมีผลข้างเคียง ดังนั้นควรใช้เมื่อมีอาการปวดแบบรุนแรงเท่านั้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ลดอาหารประเภทไขมัน อาหารที่มีเกลือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มคาเฟอีน
- ทานยาสตรี ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ควรทานช่วงก่อนจะมีประจำเดือนและระหว่างมีประจำเดือน จะทำให้ร่างกายปรับสมดุลระบบภายในของผู้หญิง ซึ่งจะทำให้โอกาสปวดท้องประจำเดือนลดน้อยลง
- รับประทานผัก ผลไม้ อาหารย่อยง่าย และมีคุณค่าทางอาหารสูง
- ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย เช่น โยคะ นั่งสมาธิ
“ปวดท้องประจำเดือน” แบบไหนต้องไปพบแพทย์
หลายคนมองว่าปวดท้องประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ ปวดไม่นานเดี๋ยวก็หาย แต่หากมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่อันตรายกว่าการปวดประจำเดือนแบบทั่วไป
- ทานยาแล้วไม่หาย
- ปวดบีบ และปวดนานกว่า 2-3 วัน มีอาการท้องร่วงและคลื่นไส้ร่วมด้วย
- ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือรู้สึกปวดท้องน้อยอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- มีเลือดไหลออกมามากกว่าปกติ ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยแทบทุกชั่วโมง
- มีเนื้อเยื่อปนออกมากับเลือด เนื้อเยื่อมีสีเทา
- มีอาการปวดท้องน้อยแม้ไม่มีประจำเดือน
- ติดเชื้อ เช่น คันบริเวณปากช่องคลอด เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ ตกขาวมีกลิ่น
- มีบุตรยาก
- อายุมากกว่า 25 ปี แต่มีอาการปวดประจำเดือนแบบรุนแรงเป็นครั้งแรก
- มีไข้พร้อมกับปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือน อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดแผลที่เนื้อเยื่อ ซึ่งจะไปทำลายอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ อาจมีไข้ มีอาการปวดท้องอย่างกระทันหันหรือรู้สึกปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและรับการรักษา
สรุป
อาการปวดท้องประจำเดือนในผู้หญิงโดยปกติทั่วไปมักจะมีอาการไม่รุนแรง ปวดเพียงช่วงวันแรกๆ ของการมีประจำเดือนจึงไม่ต้องกังวลไป แต่หากมีอาการปวดรุนแรง และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
https://allwellhealthcare.com/menstruation/
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม :
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการ “ปวดท้องประจำเดือน”