ตกขาว คืออะไร?

ตกขาว หมายถึง สารคัดหลั่งที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอด มีหน้าที่ช่วยในการหล่อลื่น ป้องกันการติดเชื้อ และระคายเคือง ซึ่งลักษณะ สี และปริมาณของตกขาว จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและแต่ละช่วงของรอบเดือน โดยทั่วไปอาจมีลักษณะดังนี้

  • วันที่ 1-5 ของรอบเดือน: เป็นช่วงที่มีเลือดประจำเดือน
  • วันที่ 6-14 ของรอบเดือน: ส่วนมากจะมีตกขาวน้อยกว่าช่วงปกติ ตกขาวมีลักษณะขุ่น มีสีขาวหรือเหลือง และอาจมีลักษณะเหนียวได้
  • วันที่ 14-25 ของรอบเดือน: ในช่วงก่อนวันตกไข่ ตกขาวอาจมีลักษณะเป็นเมือกลื่นๆ คล้ายไข่ขาว แต่หลังจากมีการตกไข่ ตกขาวจะกลับมามีลักษณะขุ่น มีสีขาวหรือเหลือง อีกครั้ง
  • วันที่ 25-28 ของรอบเดือน: ก่อนมีประจำเดือน จะเป็นช่วงที่ตกขาวมีปริมาณน้อยลงมากจนจางหายไป

สีของ “ตกขาว” บ่งบอกอะไรบ้าง?

  • เฉดสีใส: ตกขาวปกติส่วนใหญ่จะมีลักษณะเช่นนี้ คือ ใสหรือค่อนข้างขาว ลื่น ลักษณะคล้ายไข่ขาว
  • เฉดสีขาว: ตั้งแต่สีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน ลักษณะเช่นนี้จะถือเป็นตกขาวปกติที่พบได้ทั่วไป แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีกลิ่น คัน หรือตกขาวมีลักษณะขาวเหนียวร่วมกับมีอาการอื่น ลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่อาจเกิดจากการติดเชื้อราได้
  • เฉดสีแดง: เลือดในช่วงที่มีประจำเดือน โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นทุก 28 วัน หรืออยู่ในช่วง 21-35 วัน และจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่หากมีเลือดออกในช่วงอื่นนอกเหนือจากช่วงที่มีประจำเดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไป
  • เฉดสีเหลืองเขียว: ลักษณะสีเหลืองเข้ม เหลืองเขียว จนถึงเขียว เป็นเฉดสีที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงควรไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีตกขาวเหนียวเป็นก้อนหรือมีกลิ่มร่วมด้วย
  • เฉดสีเทา: ตกขาวสีเทาเป็นลักษณะเด่นของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด โดยอาจมีอาการแสดงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีกลิ่น คัน ระคายเคือง หรือมีอาการแดงบริเวณรอบๆ ช่องคลอด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

“ตกขาว”ผิดปกติกับการติดเชื้อในช่องคลอด?

ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อในช่องคลอด มักแสดงอาการผ่านทางลักษณะของตกขาว อาการคัน และกลิ่น โดย 3 โรคหลักที่เกี่ยวข้องกับตกขาวผิดปกติ ได้แก่

1. การติดเชื้อราในช่องคลอด (VULVOVAGINAL CANDIDIASIS)

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ CANDIDA ALBICANS แต่บางรายอาจเกิดจากเชื้อราชนิดอื่นได้
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด ได้แก่ โรคเบาหวาน การใช้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลานาน การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอก (เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด ภาวะตั้งครรภ์) ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน)

อาการ
ตกขาวมีลักษณะเหมือนแป้งเปียก มักมีอาการคันบริเวณปากช่องคลอด หรือมีอาการแสบร้อนในช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เมื่อตรวจภายในอาจพบการบวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด

การรักษา
ให้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาครีม ยาเหน็บช่องคลอด และยารับประทาน เช่น Clotrimazole, Miconazole, Tioconazole, Fluconazole ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

2. การติดเชื้อแบคทีเรีย (BACTERIAL VAGINOSIS)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ดีมีการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนจนมากกว่าเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น
มักสัมพันธ์กับการมีคู่นอนหลายคน การสวนล้างช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และการขาดแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสในช่องคลอด

อาการ
ส่วนมากจะไม่แสดงอาการผิดปกติ บางรายอาจมีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีสีเทา มีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลา มีอาการคัน อาจมีปัสสาวะแสบขัดหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย ส่วนอาการอักเสบในช่องคลอดหรือแสบร้อนบริเวณปากช่องคลอดพบได้น้อย

การรักษา
ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Metronidazole, Tinidazole, Clindamycin
ควรงดกิจกรรมทางเพศระหว่างการรักษา ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

3. การติดเชื้อทริโคโมแนส (TRICHOMONIASIS)

เกิดจากเชื้อโปรโตซัว TRICHOMONAS VAGINALIS (TV) ที่มักติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์

อาการ
ตกขาวมีสีเขียวเป็นฟองและมีกลิ่นเหม็น ร่วมกับมีอาการแสบร้อนและคันบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ มีการอับเสบ บวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด มีจุดเลือดออกบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกที่มีลักษณะจำเพาะเรียกว่า Strawberry cervix

การรักษา
ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น Metronidazole, Tinidazole
ให้การรักษาคู่นอนร่วมด้วย ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์?

ผู้หญิงเราควรไปพบแพทย์เมื่อตกขาวมีลักษณะ สี หรือกลิ่น ผิดไปจากปกติ หรือมีอาการทางช่องคลอด เช่น

  • มีลักษณะแดง คัน เจ็บ แสบร้อน หรือระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศหรือช่องคลอด
  • ตกขาวมีลักษณะเป็นฟอง หรือมีลักษณะคล้ายแป้งเปียก
  • ตกขาวมีสีเหลือง เขียว หรือเทา
  • มีเลือดหรือเลือดออกกะปริดกะปรอยในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  • มีกลิ่นรุนแรง

ทริค

  • การทำความสะอาดที่ดีที่สุดคือ น้ำเปล่า ซับให้แห้ง หากมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ไม่แนะนำให้ใช้แผ่นอนามัย ข้อสำคัญอย่าให้อับชื้น และดูแลชุดชั้นในให้สะอาดและแห้งโดยการตากแดด

โดยทั่วไปการติดเชื้อหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิงอาจมีผลทำให้ตกขาวผิดปกติได้ ซึ่งบางครั้งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา ดังนั้น ผู้ที่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของตกขาวหรืออาการอื่นๆ ที่อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/june-2020/leukorrhea

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม :

ยาสตรีฟลอร่า ดีจริงไหม? ทำไมถึงเป็นที่นิยม

10 วิธี”เร่งประจำเดือน”ให้มาเร็วขึ้น ปลอดภัย-ได้ผลจริง

“อาการก่อนมีประจำเดือน”ของผู้หญิง ที่ผู้ชายควรรู้